วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สารพิษตกค้าง: ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน

หลายฉบับที่ผมพูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรสวนมะม่วง ฉบับนี้ขอนำเอาความทุกข์ยากของผู้ส่งออกซึ่งท้ายที่สุดก็มาลงที่เกษตรอีกเช่นกัน มาเล่าสู่กันฟังเผื่อว่าใครมีแนวทางในการร่วมกันแก้ไขท่านละนิดท่านละหน่อยผมว่าก็น่าจะดีกว่าปล่อยเลยตามเลยครับ!!!
กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และใหญ่ยิ่งกว่า ภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ราคาสูงขึ้น หรือภัยที่เกิดจากค่าเงินบาทแข็งตัว(รัฐออกมาพูดว่ายังไม่กระทบผู้ส่งออก ที่ไหนได้เสียหายกันคนละไม่ใช่น้อย เราต้องรับผิดชอบตัวเราเองครับ) วันนี้ขอนำประเด็นสารพิษตกค้าง มาพูดคุย เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไข หากปล่อยไว้อย่างนี้รับรอง นโยบายที่เคยบอกว่าเราประเทศไทยจะเป็นครัวของโลกต้องมีอันพับเสื่อเก็บกลับบ้านอย่างแน่นอน หรืออีกไม่ช้าไม่นานคงสั่งระงับทั้งประเทศ ใครจะส่ง ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ อียู มารับรองเป็นราย ๆ ไปรายใหญ่ผ่านฉลุย รายย่อยกลับบ้านเก่าแน่นอน...ท้ายสุดเกษตรรายย่อยกลับบ้านเก่า
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุมผู้ส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทยร่วมอยู่(7 คน) ปรึกษาหารือและนำเอาปัญหาต่าง ๆ ของร่างระเบียบ และประกาศที่กรมวิชาการเกษตรกำลังจะลงนามประกาศใช้(ระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ.๒๕๕๓ และ ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้สด พ.ศ. .... ) นำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ที่จริงเรื่องของสารพิษตกค้างและเชื้อ มีการประชุมกันมานานและมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอดปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม จนในที่สุดกรมจึงใช้มาตรการเด็ดขาด โดยจะออกเป็นระเบียบและประกาศเพื่อควบคุมผู้ส่งออก(ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากว่าหนังสือจะวางแผง ระเบียบและประกาศจะชะลอ หรือลงนามไปแล้ว) เนื่องจากผู้ส่งออกที่มีลูกค้าในกลุ่มสหภาพยุโรป(European Union : EU) ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศ กำลังพบกับปัญหาในเรื่องของสารพิษตกค้าง เชื้อ และอื่น ๆ เช่น การลักรอบส่งผักและผลไม้ที่ไม่มีใบรับรองต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรเองอาจจะงง ๆ ว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย หน่วยงานภาครัฐเองก็อาจบอกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ผู้ส่งออกต้องเป็นผู้รับรับผิดชอบโดยตรง อันที่จริงหากมองกันผิวเผิน มองได้ว่าผู้ส่งออกเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเพราะมีผลได้ผลเสีย จะกล่าวว่าเป็นเรื่องของผู้ส่งออก 100 % ผมว่าก็ไม่ถูกต้องและยุติธรรมนัก หากจะกล่าวหาเกษตรกรเอง ก็ดูจะไม่เป็นธรรมเช่นกัน หรือจะโยนความผิดไปหน่วยงานภาครัฐคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก
การส่งออกผักผลไม้สดนั้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ เกษตรกรที่เป็นหน่วยผลิต หน่วยงานภาครัฐ (กรมวิชาการเกษตร และกรมอื่นที่เกี่ยวข้อง) ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ดูแล ควบคุม กำหนดนโยบายในฐานะตัวแทนของรัฐ ในเรื่องของความปลอดภัยโดยผ่านขนวนการ GAP (เกษตรกร) ,GMP, HACCP(โรงงานคัดบรรจุ)ในการรับรองและออกใบอนุญาตต่าง ๆ เมื่อมาดูถึงภาระหน้าที่หลักของแต่ละฝ่าย ก็จะเห็นชัดว่า ทุกฝ่ายควรปฏิบัติงานในภาระหน้าที่ของตนเองบนพื้นฐานของจิตสำนึก ความเป็นธรรม สมเหตุสมผล และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันได้แก่เกษตรกร ในส่วนของผู้ผลิต ควรผลิตสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการรับรอง(GAP) หากปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวบนพื้นฐานจิตสำนึก อย่างมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีวินัย ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลงไป ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดจิตสำนึก(น้อยนิด) ขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์ ก่อให้เกิดปัญหาในภาพรวม เช่นเดียวกัน ผู้ส่งออกซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังขาดสิ่งดังกล่าวเช่นกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ท้ายที่สุดก็กลับมาที่ตัวเองอยู่ดี สุดท้ายหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข มาตรการ กฏระเบียบ ที่ต้องควบคุมดูแลให้เงื่อนไขเหล่านั้นเป็นไปตามกฏกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล และเที่ยงธรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่ง(เล็กๆ)ที่ก่อให้เกิดปัญหา(ใหญ่) ทำให้ภาพรวมของประเทศเกิดปัญหาตามมา ดังนั้นการกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ เราทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าเกิดจากคนส่วนน้อยที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ ผมจำได้ว่า เริ่มต้นมาเมื่อ 4-5 ปี ทุกภาคส่วนระดมกันหาทางแก้ไข ยืดหยุ่น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาต่าง ๆ ยังคงเกิดซ้ำรอยเดิมดูเหมือนไม่ลดน้อยลงเสียด้วยซ้ำ แถมยังขยายตัวและกำหนดเงื่อนไขขึ้นสู่ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่ชี้แจงเหตุผลอันพึงเชื่อได้ว่าไม่เป็นอย่างนั้น(ในขณะที่ผลของเหตุยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม จึงสรุปว่าไม่มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังคงโทษกันไปโทษกันมา) เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาครัฐที่เป็นส่วนในการควบคุมกติกาจำเป็นต้องออกกฏ ระเบียบ มาเพื่อควบคุมผู้ที่ฝ่าฝืน ทำผิด ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแล เยียวยา ปกป้องผู้ตั้งใจปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแล ปกป้อง เกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในการผลิตผักและผลไม้ให้กับคนทั้งประเทศและทั้งโลกได้บริโภค ในที่ประชุมเราได้หยิบยกเอาปัญหามาเสวนา หากท่านใดต้องการดูรายละเอียดก็สามารถเปิดดูในเว็ปไซด์ข้างล่างนี้ ส่วนในบทความนี้ผมขอคัดลอกบทลงโทษที่เห็นว่าเป็นบทลงโทษที่ยังไม่ชัดเจน เป็นบทลงโทษสำหรับผู้ส่งออกทั้งหมดที่รุนแรง ยังไม่มีการคัดกรองเอาผู้ส่งออกที่ขาดจิตสำนึก(มีน้อยและเป็นส่วนทำให้เสียหาย) กับบริษัท ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ รักษาชื่อเสียงของตนเองมายาวนาน เพราะนี่คืออาชีพที่สร้างตนเอง และสร้างชาติจนเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก หากท่านลองอ่านบทลงโทษที่ผมคัดลอกแล้วลองพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถึงอย่างไรเราทุกคนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการระดมสมอง ร่วมแก้ปัญหาในครั้งนี้หรือครั้งต่อ ๆ ไป ผมยังเชื่อว่า ระเบียบและประกาศนี้แม้ว่าจะนำมาใช้ ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะนี่คือการแก้ที่ปลายเหตุ และหลายท่านอาจจะกล่าว ว่า แก้ที่ปลายเหตุก็ยังดี ทำให้ปัญหาลดลง แต่ผมและอีกหลายคนเห็ว่าแก้ที่ต้นเหตุ ลดลงได้มากกว่า และเป็นการสร้าง จิตสำนึก มโนธรรม และวินัยร่วมกันกับผู้ส่งออกกับเกษตรกร
“๑๔.๓ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือผลจากการตรวจติดตามพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม ๑๔.๒ และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม ๑๔.๒ แล้ว ให้เพิกถอนใบรับรอง”
“6.3 ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้ง
เตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม 6.1 และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม 6.2 แล้ว ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก”
จากร่างระเบียบและประกาศทั้ง 2 ฉบับ ที่ได้รับทราบทางช่องทาง
http://as.doa.go.th/psco/index.php?option=com_content&view=article&id=67:-9--2553 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น ผมในนามของผู้ประกอบการส่งผักและผลไม้ออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ อียู ขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างระเบียบและประกาศที่นำเสนอทางช่องทางดั้งกล่าวข้างต้น เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วเห็นว่ายังมีความคลุมเครือในหลายประเด็นยากต่อการตีความ และอาจเกิดปัญหาในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งในประเด็นเหล่านั้นไม่เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ส่งออก อีกทั้งร่างดังกล่าวยังมีความสลับซับซ้อนในหลายประเด็นรวมถึงยังไม่ชัดเจนในการตีความในแต่ละหัวข้อ ควรมีการหารือจัดทำรายละเอียดข้อย่อยให้ชัดเจนเพื่อเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ (การหารือ ควรจัดเวลาให้มีการระดมความคิดได้อย่างเต็มที่ ไม่ควรเสียเวลากับพิธีการเปิด การบรรยายของเจ้าหน้าที่ เหลือเวลาเพียง10-20 นาทีอย่างนี้ไม่เรียกว่าระดมความคิดเห็น)
ตัวอย่างจากการร่างระเบียบและประกาศนั้นยังขาดความละเอียดและชัดเจนในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ ให้เพิกถอนใบรับรอง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ร่วม กำหนดรายละเอียดของร่างระเบียบ และประกาศให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในแต่ละประเด็น รวมถึงการกำหนดบทลงโทษซึ่งควรใช้การ “เปรียบเทียบปรับ” แทน “การเพิกถอนใบรับรอง”
หากย้อนกลับพิจารณาต้นเหตุที่เกิดของปัญหา จะพบว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1) ต้นน้ำ(เกษตรกร) ขาดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์(อันนี้น่าเห็นใจเพราะบางครั้งโดดเดี่ยวไม่รู้จะพึ่งใคร) ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ (เกษตรกรกลุ่มนี้ ต้องหันมาสร้างขบวนการสร้างจิตสำนึก โดยใช้ทั้งการช่วยเหลือแนะนำและลงโทษ) 2)ระบบการรับรองที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอ(ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้) 3) ผู้ส่งออกที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม(อันนี้ ยอมรับว่าผู้ส่งออกที่เห็นกับประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติผิดกติกา ผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องมีบทลงโทษอย่างชัดเจน และเป็นระดับของเจตนา ต้องมีขบวนการแยกแยะผู้ส่งออกเหล่านี้ออกจากผู้ส่งออกที่สร้างชื่อเสียง มุ่งมั่นเป็นทัพหน้าสร้างชาติมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานอย่างเป็นธรรม)
ทุกภาคส่วน ควรร่วมรับผิดชอบในส่วนของตนเองอย่างจริงใจ(พูดง่าย ทำยาก แต่ควรทำ) ไม่ควรยกความผิด หรือตั้งสมมติฐานความผิดมาที่ผู้ส่งออกทั้งหมดเพราะ เมื่อเป็นอย่างนั้นฐานความคิดต่าง ๆ จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ฐานความคิดที่ว่าผู้ส่งออกได้ผลประโยชน์จากการนี้ฝ่ายเดียวต้องรับผิดชอบ อันที่จริงทุกภาคส่วนได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น (ผลประโยชน์ไม่ใช้แค่ตัวเงิน หมายรวมถึงความดีความชอบ ตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ การกินดีอยู่ดีของเกษตรกรความ เจริญก้าวหน้าของชุมชนเกษตรกร สังคมและประเทศ) หรือว่าผู้ส่งออกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ? ข้อความนี้ก็ดูจะฟังแล้วรู้สึกอึดอัดใจอยู่พอสมควร เพราะทุกวันนี้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ในการสร้างตลาดให้กับเกษตรกรและประเทศ เกษตรกรเป็นผู้ผลิต ภาครัฐก็รับผิดชอบในส่วนของการช่วยเหลือสนับสนุนในทุกภาคส่วน โดยมีเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีเป็นค่าตอบแทน มีตำแหน่งหน้าที่เป็นโบนัสในความตั้งใจทำงานมีผลงานดีเด่น หากจะถกเถียงประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีวันจบสิ้น ควรแบ่งภาคส่วนที่รับผิดชอบให้ชัดเจนว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไร บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันอย่างมืออาชีพ ทุกภาคส่วนควรหันมาพัฒนางานร่วมกันเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโต มั่นคง และยั่งยืนอย่ามัวมองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด ข้าราชการเองก็ต้องตั้งทีมงานมืออาชีพเข้าช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ส่งออก นั่นเป็นภาระกิจหลักที่สำคัญของรัฐ หากมัวคิดแต่ว่าจะทำในส่วนที่รับผิดชอบให้เติบโตอยู่เพียงฝ่ายเดียว ท้ายสุดก็ล้มทั้งระบบ เช่นเดียวกันหากโรงงานถูกเพิกถอนใบรับรองนั่นก็หมายความว่าปิดกิจการที่สุดเกษตรกรเดือดร้อน ประเทศเดือดร้อน หรือราชการไม่เดือดร้อน?
ย้อนกลับมาประเด็นที่ผมเห็นว่าควรยกเลิกและกำหนดบทลงโทษ คืออำนาจในการเพิกถอนใบรับรอง ยกตัวอย่างในเมืองไทย โออิชิที่เคยพบปัญหาปนเปื้อนในต่างประเทศ แม็คโดนอล โค๊ก BP เกิดน้ำมันรั่วไหล ก็ไม่เคยมีการเพิกถอน เพราะบริษัทเหล่านั้นใช้ระบบในการควบคุม การควบคุมด้วยระบบ GMP, HACCP, GAP หรือระบบอื่น ๆ คุม ไม่ได้ 100 % หรือแม้แต่ใน อียู เองก็ยังพบปัญหาเช่นเดียวกับเราอย่างต่อเนื่อง อียู ใช้วิธีการปรับ มิใช่เพิกถอน(หากพบว่าเกษตร หรือผู้ส่งออกมีเจตนาชัดเจนการเพิกถอนก็ดูจะสมเหตุสมผลอยู่เช่นกัน) ในขณะเดียวกัน เมื่อพบจากนอก อียู เอง ก็จะปรับผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะเรียกเงินจากผู้ส่งออก อันนี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ว่ามาตรการเพิกถอนนั้นไม่ควรนำมาใช้ในธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อน และกลไกควบคุมด้วยระบบต่าง ๆ ซึ่งท้ายสุดมีผลกระทบในภาพรวมของประเทศเช่นกัน
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การออกกฏระเบียบควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เช่น ถ้าผู้ส่งออกปฏิบัติผิดระเบียบ สาเหตุเกิดจากเจตนาทำผิด หรือ ความผิดมาจากต้นเหตุคือ แหล่งที่มาควบคุมด้วยระบบ ซึ่งเกิดความผิดพลาดได้นั้น บทลงโทษควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และมาตรฐานสากล เป็นไปตามฐานความผิดและเจตนาที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ(ที่มีความรู้ประสบการณ์ เป็นธรรม ไม่มีผลได้ผลเสียกับทุกฝ่าย)อย่างละเอียดรอบคอบ
ผมในฐานะผู้ส่งออก ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีกฏระเบียบ มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นด้วยกับร่างระเบียบและประกาศในส่วนของบทลงโทษ ซึ่งควรมีการตีความและปรับเปลี่ยนการใช้อำนาจของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในการเพิกถอนใบอนุญาต มาเป็นค่าปรับเหมือน ๆ กับนานาประเทศ รวมทั้งในอียูแทน อีกทั้งควรมีการกำหนดในรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อผู้ปฏิบัติและถูกปฏิบัติในภายหลังการประกาศใช้ระเบียบและประกาศบนพื้นฐานของความถูกต้อง เท่าเทียมเป็นธรรม โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดนั้น
ในขณะที่ผมได้รับ Mail จาก ผู้ประกอบการ (ขนส่งในการส่งออกผักสดและผลไม้สด) ซึ่งผมตัดบางส่วนบางตอนมาให้อ่านกัน ณ วันนี้คนที่อยู่และรับผิดชอบในงานหน้าที่ต่างคนต่างหาทางเอาตัวรอด บางท่านก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยว ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวมีผลกระทบต่อสายงาน หรือองค์กรที่ตัวเองทำอยู่หรือเป็นเจ้าของอยู่ นั่นหมายถึงอาชีพ หรือธุรกิจที่ลงทุนไปมหาศาล และผลกระทบหากเกิดขึ้นนั่นก็หมายความว่าพังราบเป็นหน้ากอง ลองอ่านดูครับ
“ผมใคร่ขอเสนอความเห็นในบางประเด็นสำหรับการแก้ไขปัญหาการส่งออกผักสด และผลไม้ไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือรวมถึงทั่วโลก ผมตั้งข้อสังเกตุว่า การแก้ไขปัญหาของกรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ หรือโรงงานเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ เกษตรกรต่างหากเป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ ส่วนผู้ประกอบหรือโรงงานเป็นผู้จัดการผลผลิตเหล่านั้นให้มีกระบวนการที่ถูกต้อง ตามหลักสากลและมาตราฐานการคัดบรรจุ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายปีเกี่ยวกับการส่งออกผักสด และผลไม้ ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป นั้นคือปัญหาเรื่องของ สารพิษตกค้างและเชื้อจุลอินทรีย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การระงับการนำเข้าจากประเทศไทย การมาเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ จากสภาพยุโรป และการประชุมร่วมต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ก็มิสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง และปรากฏผลในทางที่ดีขึ้น กลับตรงกันข้ามเหตุว่าหลังการเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ ทางกรมวิชาการเกษตรกลับมีกฏระเบียบต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายเพื่อใช้บังคับกับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและผู้นำเข้าลดปริมาณในการสั่งซื้อในบางส่วน ผมเห็นว่าการที่ไม่มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนอันเกี่ยวข้องกับการที่จะ ควบคุมปริมาณสารพิษตกค้าง และเชื้อจุลอินทรีย์ ในพืชผัก และผลไม้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเจราจากับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเกษตรได้ เพราะไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ การที่เจ้าหน้าที่กลุ่มสภาพยุโรปยังเล็งเห็นว่า ขณะที่ประชากรในประเทศของเราเอง ยังต้องบริโภค ผักสดและผลไม้ที่เต็มไปด้วยสารพิษตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์อยู่นั้น ประชากรในประเทศของเขาเหล่านั้นจะมั่นใจในความปลอดภัยของพืชผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศของเราได้อย่างไร ( เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร ) หากเรามีนโนบายที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านั้นมั่นใจว่าประชากรภายในประเทศของเรา ต้องบริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง และพบค่าตกค้างของสารเคมีในพืชผักผลไม้ ที่เป็นไปตามมาตราฐานสากลปัญหาก็จะถูกแก้ไข ความเชื่อมั่นในผลผลิตทางการเกษตรของประเทศก็จะกลับมา ซึ่งก็จะนำไปสู่ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ”
อ่านดูแล้วก็ให้รู้สึกขึ้นมาทันทีว่าสิ่งที่ท่านนี้พูดถึงเป็นความจริงที่หลายมองข้าม ยังไม่หมดนะครับท่านผู้นี้เสนอแนวทางแก้ไขไว้น่าสนใจดังนี้ครับ
“เหตุใดจึงไม่มีการนำเสนอโครงการนำร่องในพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก ซึ่งมีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีการควบคุม ให้เป็นไปตามหลัก GAP ซึ่งคิดว่าสามารถปฏิบัติได้ในบางพื้นที่ อย่าง เช่น นครปฐม อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นพื้นที่หลักในการปลูกพืชผัก ที่ใช้ในการส่งออกอยู่ ณ ปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งหากสามารถกำหนดพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นจุดยุทธศาตร์ ในการเพาะปลูกพืชผัก เพื่อการส่งออกและมีการควบคุมอย่างถูกต้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก จะมาซื้อพืชผัก จากพื้นที่ที่มีการควบคุมนี้เพื่อการส่งออก โดยที่ผู้ประกอบ และผู้ส่งออก ไม่ต้องไปลงทุนในการเพาะปลูกพืชผักเพื่อส่งออกเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง”
ผมเองเคยได้ร่วมการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดนครปฐม ก็ได้เสนอแนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์ไว้มากพอสมควร หลายเดือนก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่ง ถามผมว่าเห็นด้วยกับการทำGlobal GAP หรือไม่ ? เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นัดกับเจ้าของสวนอาหาร แถว ๆ มุมถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนราชพฤษ์ นั่งรัปทานอาหารกันและสนทนากันถึงเรื่องวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ตอนหนึ่งผู้ประกอบการท่านนี้เอ่ยว่า ท่านไม่รับประทานถั่วฝักยาว เพราะพี่สาว(เป็นเกษตรกร)บอกว่า “ถั่วฝักยาว เกษตรกรปลูกเองแต่ไม่รับประทานเอง” นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงสาเหตุที่ท่านผู้ประกอบการเขียนมาในวงเล็บว่า “เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร”
และท้ายของเมล์เป็นคำถามที่น่าสนใจลองอ่านดูครับ
“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ จะนำเสนอความจริง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นกับทางภาครัฐ หรือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ยังคงเงียบ และยอมรับในกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากทางภาครัฐ จนต้องยอมเลิกอาชีพ หรือปิดโรงานกันไป”
สิ่งที่เกิดขึ้นและคำถามที่ผมเก็บมาเล่าสู่กันฟังล้วนมาจากสาเหตุจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสิ้น แต่ที่สุดก็มาลงโทษที่ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ อันนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมหลายท่านในกรมมีข้ออ้างต่าง ๆ นา แต่ถ้าทุกคนมีข้ออ้างเหมือนกันหมด สุดท้ายเราก็ส่งผักและผลไม้ไปขายที่ไหนไม่ได้ ผมเห็นด้วยกับผู้ประกอบการรายดังกล่าวที่ควรจัดทำแผนแม่บทให้ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองลงมาดูเลยครับเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้ว่าผักผลไม้จะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรรายย่อย แต่มูลค่าไม่เร้าใจ ทำแล้วคะแนนนิยมไม่ขึ้น สู้พืชหลัก ๆ ไม่ได้ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสัมปะหลัง หรือถ้าเป็นผลไม้ก็สู้ ลำไย มังคุด ลองกอง ทุเรียน ไม่ได้ เพราะช่วยแล้วเห็นน้ำเห็นเนื้อ
ผมเห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบระดับสูงสุดของประเทศต้องกำหนดเป็นนโยบายหลักที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วม ทุกวันนี้มีคณะกรรมการหลายชุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกษตรกรไม่ได้ออกความคิดเห็นเลย เวลานั่งโต๊ะประชุมกัน มีนักวิชาการ มีปลัด มีอธบดี มีผู้อำนวยการ หัวหน้าหน่วยงานเต็มไปหมด มีหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร อยู่ 2-3 คน มานั่งเป็นพระอันดับพูดไม่ทัน ไม่รู้จะเสนอความคิดเห็นอะไร เพราะไม่ถูกหลักการบ้าง ไม่สามรถปฏิบัติได้ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน จิปาถะที่สุดก็พิจารณาตามท่าน ๆ ทั้งหลายที่เสนอความคิดเห็น(ที่จริงไม่ต้องประชุมก็มีคำตอบมาแล้ว,มาเพื่อเซนต์เอกสารรับรองการประชุมผ่านทางเบี้ยประชุม)ที่ผมพูดนี่ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาพูดลอย ๆ เป็นคณะกรรมการกับเขาด้วย เข้าไปถึง บางทีหัวหน้ากลุ่ม ประธานกลุ่มเกษตรกร ไม่มาเพราะมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร รถก็ติด ที่สุดก็อ้างติดธุระโน่นบ้างนี่บ้างไม่ได้เข้าร่วม สุดท้ายผลก็ออกมาอย่างที่เห็นๆ
จากเมล์อีกฉบับซึ่งผมได้พยายามติดต่อและขอความกรุณาจาก อาจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ นักวิชาการ และนักประฏิบัติการที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้อยู่ห่างไกลวิชาการ เพื่อให้ท่านรบกวนช่วยสอบถามอาจารย์ของท่านที่ไต้หวันว่าเขาทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ รัฐเข้ามาช่วยอย่างไร ผมได้รับความเมตตาจากท่าน และรศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยจงชิน สรุปใจความว่า
“จากประเด็นที่อาจารย์ถามถึงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่มีต่อภาคการส่งออกมะม่วงในแง่ของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องสารเคมีตกค้าง สรุปได้ดังนี้
1. ผู้ส่งออกและชาวสวนจะทำข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบของสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่รายละเอียดของสัญญาประกอบด้วยพื้นที่การผลิต ปริมาณผลผลิต มาตรฐานผลผลิต และราคา ในฤดูกาลที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
2. ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบโดยตรง
3. หน่วยงานของรัฐบาลจัดทีมงาน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการตลาด เป็นต้น) ตระเวณช่วยชาวสวนทุกพื้นที่ที่ได้ส่งข้อมูล (ในข้อที่1)ไปให้โดยเน้นที่การให้ความรู้และการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดต่างประเทศ
4. สุ่มตัวอย่างผลผลิตมาตรวจสารเคมีตกค้างก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ถ้าผ่านการตรวจสอบ (โดยรัฐบาลเป็นผู้รับรอง) จึงจะสามารถสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในครั้งที่สองได้
5. ตรวจสารเคมีตกค้างครั้งที่สองและต้องรีบทำให้เสร็จเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะสามารถนำมะม่วงไปอบไอร้อนได้และสามารถส่งออกได้ต่อไป
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสารเคมีตกค้างรัฐบาลและผู้ส่งออกจะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง
ข้อมูลหลักๆสรุปได้ตามนี้ค่ะ ทั้งนี้ได้แนบข้อมูลจาก รศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือมาให้เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลด้วย”
ผมเอาเมล์มาลงให้อ่าน แล้วลองดูประเทศที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าประเทศไทย มีภัยธรรมชาติสูงกว่า ค่าแรงสูงกว่าเราหลายเท่าตัว รัฐสนับสนุนอย่างไร? จึงไม่แปลกว่าทำไมไต้หวันซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ เกษตรกรและผู้ส่งออก จึงมีองค์ความรู้ มีจิตวิญญาณ มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ ผลิตเกษตรกร ที่มีความรับผิดชอบสูง ภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัย ช่วยกันพัฒนาในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน นโยบายรัฐชัดเจน เพื่อส่งเข้าแข่งขันในเวทีโลก หากประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน และจะเป็นครัวของโลกที่มั่นคงยั่งยืน ในขณะเดียวกัน หากยังมีฐานคิดที่แบ่งแยกกันอยู่ ไม่นานเกินรอ “สารพิษตกค้าง:ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน”