วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สารพิษตกค้าง: ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน

หลายฉบับที่ผมพูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรสวนมะม่วง ฉบับนี้ขอนำเอาความทุกข์ยากของผู้ส่งออกซึ่งท้ายที่สุดก็มาลงที่เกษตรอีกเช่นกัน มาเล่าสู่กันฟังเผื่อว่าใครมีแนวทางในการร่วมกันแก้ไขท่านละนิดท่านละหน่อยผมว่าก็น่าจะดีกว่าปล่อยเลยตามเลยครับ!!!
กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และใหญ่ยิ่งกว่า ภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ราคาสูงขึ้น หรือภัยที่เกิดจากค่าเงินบาทแข็งตัว(รัฐออกมาพูดว่ายังไม่กระทบผู้ส่งออก ที่ไหนได้เสียหายกันคนละไม่ใช่น้อย เราต้องรับผิดชอบตัวเราเองครับ) วันนี้ขอนำประเด็นสารพิษตกค้าง มาพูดคุย เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไข หากปล่อยไว้อย่างนี้รับรอง นโยบายที่เคยบอกว่าเราประเทศไทยจะเป็นครัวของโลกต้องมีอันพับเสื่อเก็บกลับบ้านอย่างแน่นอน หรืออีกไม่ช้าไม่นานคงสั่งระงับทั้งประเทศ ใครจะส่ง ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ อียู มารับรองเป็นราย ๆ ไปรายใหญ่ผ่านฉลุย รายย่อยกลับบ้านเก่าแน่นอน...ท้ายสุดเกษตรรายย่อยกลับบ้านเก่า
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุมผู้ส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทยร่วมอยู่(7 คน) ปรึกษาหารือและนำเอาปัญหาต่าง ๆ ของร่างระเบียบ และประกาศที่กรมวิชาการเกษตรกำลังจะลงนามประกาศใช้(ระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ.๒๕๕๓ และ ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้สด พ.ศ. .... ) นำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ที่จริงเรื่องของสารพิษตกค้างและเชื้อ มีการประชุมกันมานานและมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอดปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม จนในที่สุดกรมจึงใช้มาตรการเด็ดขาด โดยจะออกเป็นระเบียบและประกาศเพื่อควบคุมผู้ส่งออก(ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากว่าหนังสือจะวางแผง ระเบียบและประกาศจะชะลอ หรือลงนามไปแล้ว) เนื่องจากผู้ส่งออกที่มีลูกค้าในกลุ่มสหภาพยุโรป(European Union : EU) ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศ กำลังพบกับปัญหาในเรื่องของสารพิษตกค้าง เชื้อ และอื่น ๆ เช่น การลักรอบส่งผักและผลไม้ที่ไม่มีใบรับรองต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรเองอาจจะงง ๆ ว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย หน่วยงานภาครัฐเองก็อาจบอกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ผู้ส่งออกต้องเป็นผู้รับรับผิดชอบโดยตรง อันที่จริงหากมองกันผิวเผิน มองได้ว่าผู้ส่งออกเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเพราะมีผลได้ผลเสีย จะกล่าวว่าเป็นเรื่องของผู้ส่งออก 100 % ผมว่าก็ไม่ถูกต้องและยุติธรรมนัก หากจะกล่าวหาเกษตรกรเอง ก็ดูจะไม่เป็นธรรมเช่นกัน หรือจะโยนความผิดไปหน่วยงานภาครัฐคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก
การส่งออกผักผลไม้สดนั้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ เกษตรกรที่เป็นหน่วยผลิต หน่วยงานภาครัฐ (กรมวิชาการเกษตร และกรมอื่นที่เกี่ยวข้อง) ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ดูแล ควบคุม กำหนดนโยบายในฐานะตัวแทนของรัฐ ในเรื่องของความปลอดภัยโดยผ่านขนวนการ GAP (เกษตรกร) ,GMP, HACCP(โรงงานคัดบรรจุ)ในการรับรองและออกใบอนุญาตต่าง ๆ เมื่อมาดูถึงภาระหน้าที่หลักของแต่ละฝ่าย ก็จะเห็นชัดว่า ทุกฝ่ายควรปฏิบัติงานในภาระหน้าที่ของตนเองบนพื้นฐานของจิตสำนึก ความเป็นธรรม สมเหตุสมผล และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันได้แก่เกษตรกร ในส่วนของผู้ผลิต ควรผลิตสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการรับรอง(GAP) หากปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวบนพื้นฐานจิตสำนึก อย่างมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีวินัย ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลงไป ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดจิตสำนึก(น้อยนิด) ขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์ ก่อให้เกิดปัญหาในภาพรวม เช่นเดียวกัน ผู้ส่งออกซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังขาดสิ่งดังกล่าวเช่นกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ท้ายที่สุดก็กลับมาที่ตัวเองอยู่ดี สุดท้ายหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข มาตรการ กฏระเบียบ ที่ต้องควบคุมดูแลให้เงื่อนไขเหล่านั้นเป็นไปตามกฏกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล และเที่ยงธรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่ง(เล็กๆ)ที่ก่อให้เกิดปัญหา(ใหญ่) ทำให้ภาพรวมของประเทศเกิดปัญหาตามมา ดังนั้นการกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ เราทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าเกิดจากคนส่วนน้อยที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ ผมจำได้ว่า เริ่มต้นมาเมื่อ 4-5 ปี ทุกภาคส่วนระดมกันหาทางแก้ไข ยืดหยุ่น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาต่าง ๆ ยังคงเกิดซ้ำรอยเดิมดูเหมือนไม่ลดน้อยลงเสียด้วยซ้ำ แถมยังขยายตัวและกำหนดเงื่อนไขขึ้นสู่ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่ชี้แจงเหตุผลอันพึงเชื่อได้ว่าไม่เป็นอย่างนั้น(ในขณะที่ผลของเหตุยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม จึงสรุปว่าไม่มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังคงโทษกันไปโทษกันมา) เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาครัฐที่เป็นส่วนในการควบคุมกติกาจำเป็นต้องออกกฏ ระเบียบ มาเพื่อควบคุมผู้ที่ฝ่าฝืน ทำผิด ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแล เยียวยา ปกป้องผู้ตั้งใจปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแล ปกป้อง เกษตรกร ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในการผลิตผักและผลไม้ให้กับคนทั้งประเทศและทั้งโลกได้บริโภค ในที่ประชุมเราได้หยิบยกเอาปัญหามาเสวนา หากท่านใดต้องการดูรายละเอียดก็สามารถเปิดดูในเว็ปไซด์ข้างล่างนี้ ส่วนในบทความนี้ผมขอคัดลอกบทลงโทษที่เห็นว่าเป็นบทลงโทษที่ยังไม่ชัดเจน เป็นบทลงโทษสำหรับผู้ส่งออกทั้งหมดที่รุนแรง ยังไม่มีการคัดกรองเอาผู้ส่งออกที่ขาดจิตสำนึก(มีน้อยและเป็นส่วนทำให้เสียหาย) กับบริษัท ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ รักษาชื่อเสียงของตนเองมายาวนาน เพราะนี่คืออาชีพที่สร้างตนเอง และสร้างชาติจนเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก หากท่านลองอ่านบทลงโทษที่ผมคัดลอกแล้วลองพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถึงอย่างไรเราทุกคนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการระดมสมอง ร่วมแก้ปัญหาในครั้งนี้หรือครั้งต่อ ๆ ไป ผมยังเชื่อว่า ระเบียบและประกาศนี้แม้ว่าจะนำมาใช้ ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะนี่คือการแก้ที่ปลายเหตุ และหลายท่านอาจจะกล่าว ว่า แก้ที่ปลายเหตุก็ยังดี ทำให้ปัญหาลดลง แต่ผมและอีกหลายคนเห็ว่าแก้ที่ต้นเหตุ ลดลงได้มากกว่า และเป็นการสร้าง จิตสำนึก มโนธรรม และวินัยร่วมกันกับผู้ส่งออกกับเกษตรกร
“๑๔.๓ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือผลจากการตรวจติดตามพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม ๑๔.๒ และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม ๑๔.๒ แล้ว ให้เพิกถอนใบรับรอง”
“6.3 ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้ง
เตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม 6.1 และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม 6.2 แล้ว ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก”
จากร่างระเบียบและประกาศทั้ง 2 ฉบับ ที่ได้รับทราบทางช่องทาง
http://as.doa.go.th/psco/index.php?option=com_content&view=article&id=67:-9--2553 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น ผมในนามของผู้ประกอบการส่งผักและผลไม้ออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ อียู ขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างระเบียบและประกาศที่นำเสนอทางช่องทางดั้งกล่าวข้างต้น เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วเห็นว่ายังมีความคลุมเครือในหลายประเด็นยากต่อการตีความ และอาจเกิดปัญหาในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งในประเด็นเหล่านั้นไม่เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ส่งออก อีกทั้งร่างดังกล่าวยังมีความสลับซับซ้อนในหลายประเด็นรวมถึงยังไม่ชัดเจนในการตีความในแต่ละหัวข้อ ควรมีการหารือจัดทำรายละเอียดข้อย่อยให้ชัดเจนเพื่อเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ (การหารือ ควรจัดเวลาให้มีการระดมความคิดได้อย่างเต็มที่ ไม่ควรเสียเวลากับพิธีการเปิด การบรรยายของเจ้าหน้าที่ เหลือเวลาเพียง10-20 นาทีอย่างนี้ไม่เรียกว่าระดมความคิดเห็น)
ตัวอย่างจากการร่างระเบียบและประกาศนั้นยังขาดความละเอียดและชัดเจนในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ ให้เพิกถอนใบรับรอง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ร่วม กำหนดรายละเอียดของร่างระเบียบ และประกาศให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในแต่ละประเด็น รวมถึงการกำหนดบทลงโทษซึ่งควรใช้การ “เปรียบเทียบปรับ” แทน “การเพิกถอนใบรับรอง”
หากย้อนกลับพิจารณาต้นเหตุที่เกิดของปัญหา จะพบว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1) ต้นน้ำ(เกษตรกร) ขาดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์(อันนี้น่าเห็นใจเพราะบางครั้งโดดเดี่ยวไม่รู้จะพึ่งใคร) ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ (เกษตรกรกลุ่มนี้ ต้องหันมาสร้างขบวนการสร้างจิตสำนึก โดยใช้ทั้งการช่วยเหลือแนะนำและลงโทษ) 2)ระบบการรับรองที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอ(ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้) 3) ผู้ส่งออกที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม(อันนี้ ยอมรับว่าผู้ส่งออกที่เห็นกับประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติผิดกติกา ผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องมีบทลงโทษอย่างชัดเจน และเป็นระดับของเจตนา ต้องมีขบวนการแยกแยะผู้ส่งออกเหล่านี้ออกจากผู้ส่งออกที่สร้างชื่อเสียง มุ่งมั่นเป็นทัพหน้าสร้างชาติมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานอย่างเป็นธรรม)
ทุกภาคส่วน ควรร่วมรับผิดชอบในส่วนของตนเองอย่างจริงใจ(พูดง่าย ทำยาก แต่ควรทำ) ไม่ควรยกความผิด หรือตั้งสมมติฐานความผิดมาที่ผู้ส่งออกทั้งหมดเพราะ เมื่อเป็นอย่างนั้นฐานความคิดต่าง ๆ จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ฐานความคิดที่ว่าผู้ส่งออกได้ผลประโยชน์จากการนี้ฝ่ายเดียวต้องรับผิดชอบ อันที่จริงทุกภาคส่วนได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น (ผลประโยชน์ไม่ใช้แค่ตัวเงิน หมายรวมถึงความดีความชอบ ตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ การกินดีอยู่ดีของเกษตรกรความ เจริญก้าวหน้าของชุมชนเกษตรกร สังคมและประเทศ) หรือว่าผู้ส่งออกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ? ข้อความนี้ก็ดูจะฟังแล้วรู้สึกอึดอัดใจอยู่พอสมควร เพราะทุกวันนี้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ในการสร้างตลาดให้กับเกษตรกรและประเทศ เกษตรกรเป็นผู้ผลิต ภาครัฐก็รับผิดชอบในส่วนของการช่วยเหลือสนับสนุนในทุกภาคส่วน โดยมีเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีเป็นค่าตอบแทน มีตำแหน่งหน้าที่เป็นโบนัสในความตั้งใจทำงานมีผลงานดีเด่น หากจะถกเถียงประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีวันจบสิ้น ควรแบ่งภาคส่วนที่รับผิดชอบให้ชัดเจนว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไร บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันอย่างมืออาชีพ ทุกภาคส่วนควรหันมาพัฒนางานร่วมกันเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโต มั่นคง และยั่งยืนอย่ามัวมองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด ข้าราชการเองก็ต้องตั้งทีมงานมืออาชีพเข้าช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ส่งออก นั่นเป็นภาระกิจหลักที่สำคัญของรัฐ หากมัวคิดแต่ว่าจะทำในส่วนที่รับผิดชอบให้เติบโตอยู่เพียงฝ่ายเดียว ท้ายสุดก็ล้มทั้งระบบ เช่นเดียวกันหากโรงงานถูกเพิกถอนใบรับรองนั่นก็หมายความว่าปิดกิจการที่สุดเกษตรกรเดือดร้อน ประเทศเดือดร้อน หรือราชการไม่เดือดร้อน?
ย้อนกลับมาประเด็นที่ผมเห็นว่าควรยกเลิกและกำหนดบทลงโทษ คืออำนาจในการเพิกถอนใบรับรอง ยกตัวอย่างในเมืองไทย โออิชิที่เคยพบปัญหาปนเปื้อนในต่างประเทศ แม็คโดนอล โค๊ก BP เกิดน้ำมันรั่วไหล ก็ไม่เคยมีการเพิกถอน เพราะบริษัทเหล่านั้นใช้ระบบในการควบคุม การควบคุมด้วยระบบ GMP, HACCP, GAP หรือระบบอื่น ๆ คุม ไม่ได้ 100 % หรือแม้แต่ใน อียู เองก็ยังพบปัญหาเช่นเดียวกับเราอย่างต่อเนื่อง อียู ใช้วิธีการปรับ มิใช่เพิกถอน(หากพบว่าเกษตร หรือผู้ส่งออกมีเจตนาชัดเจนการเพิกถอนก็ดูจะสมเหตุสมผลอยู่เช่นกัน) ในขณะเดียวกัน เมื่อพบจากนอก อียู เอง ก็จะปรับผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะเรียกเงินจากผู้ส่งออก อันนี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ว่ามาตรการเพิกถอนนั้นไม่ควรนำมาใช้ในธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อน และกลไกควบคุมด้วยระบบต่าง ๆ ซึ่งท้ายสุดมีผลกระทบในภาพรวมของประเทศเช่นกัน
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การออกกฏระเบียบควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เช่น ถ้าผู้ส่งออกปฏิบัติผิดระเบียบ สาเหตุเกิดจากเจตนาทำผิด หรือ ความผิดมาจากต้นเหตุคือ แหล่งที่มาควบคุมด้วยระบบ ซึ่งเกิดความผิดพลาดได้นั้น บทลงโทษควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และมาตรฐานสากล เป็นไปตามฐานความผิดและเจตนาที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ(ที่มีความรู้ประสบการณ์ เป็นธรรม ไม่มีผลได้ผลเสียกับทุกฝ่าย)อย่างละเอียดรอบคอบ
ผมในฐานะผู้ส่งออก ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีกฏระเบียบ มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นด้วยกับร่างระเบียบและประกาศในส่วนของบทลงโทษ ซึ่งควรมีการตีความและปรับเปลี่ยนการใช้อำนาจของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในการเพิกถอนใบอนุญาต มาเป็นค่าปรับเหมือน ๆ กับนานาประเทศ รวมทั้งในอียูแทน อีกทั้งควรมีการกำหนดในรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อผู้ปฏิบัติและถูกปฏิบัติในภายหลังการประกาศใช้ระเบียบและประกาศบนพื้นฐานของความถูกต้อง เท่าเทียมเป็นธรรม โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดนั้น
ในขณะที่ผมได้รับ Mail จาก ผู้ประกอบการ (ขนส่งในการส่งออกผักสดและผลไม้สด) ซึ่งผมตัดบางส่วนบางตอนมาให้อ่านกัน ณ วันนี้คนที่อยู่และรับผิดชอบในงานหน้าที่ต่างคนต่างหาทางเอาตัวรอด บางท่านก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยว ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวมีผลกระทบต่อสายงาน หรือองค์กรที่ตัวเองทำอยู่หรือเป็นเจ้าของอยู่ นั่นหมายถึงอาชีพ หรือธุรกิจที่ลงทุนไปมหาศาล และผลกระทบหากเกิดขึ้นนั่นก็หมายความว่าพังราบเป็นหน้ากอง ลองอ่านดูครับ
“ผมใคร่ขอเสนอความเห็นในบางประเด็นสำหรับการแก้ไขปัญหาการส่งออกผักสด และผลไม้ไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือรวมถึงทั่วโลก ผมตั้งข้อสังเกตุว่า การแก้ไขปัญหาของกรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ หรือโรงงานเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ เกษตรกรต่างหากเป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ ส่วนผู้ประกอบหรือโรงงานเป็นผู้จัดการผลผลิตเหล่านั้นให้มีกระบวนการที่ถูกต้อง ตามหลักสากลและมาตราฐานการคัดบรรจุ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายปีเกี่ยวกับการส่งออกผักสด และผลไม้ ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป นั้นคือปัญหาเรื่องของ สารพิษตกค้างและเชื้อจุลอินทรีย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การระงับการนำเข้าจากประเทศไทย การมาเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ จากสภาพยุโรป และการประชุมร่วมต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ก็มิสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง และปรากฏผลในทางที่ดีขึ้น กลับตรงกันข้ามเหตุว่าหลังการเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ ทางกรมวิชาการเกษตรกลับมีกฏระเบียบต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายเพื่อใช้บังคับกับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและผู้นำเข้าลดปริมาณในการสั่งซื้อในบางส่วน ผมเห็นว่าการที่ไม่มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนอันเกี่ยวข้องกับการที่จะ ควบคุมปริมาณสารพิษตกค้าง และเชื้อจุลอินทรีย์ ในพืชผัก และผลไม้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเจราจากับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเกษตรได้ เพราะไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ การที่เจ้าหน้าที่กลุ่มสภาพยุโรปยังเล็งเห็นว่า ขณะที่ประชากรในประเทศของเราเอง ยังต้องบริโภค ผักสดและผลไม้ที่เต็มไปด้วยสารพิษตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์อยู่นั้น ประชากรในประเทศของเขาเหล่านั้นจะมั่นใจในความปลอดภัยของพืชผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศของเราได้อย่างไร ( เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร ) หากเรามีนโนบายที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านั้นมั่นใจว่าประชากรภายในประเทศของเรา ต้องบริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง และพบค่าตกค้างของสารเคมีในพืชผักผลไม้ ที่เป็นไปตามมาตราฐานสากลปัญหาก็จะถูกแก้ไข ความเชื่อมั่นในผลผลิตทางการเกษตรของประเทศก็จะกลับมา ซึ่งก็จะนำไปสู่ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ”
อ่านดูแล้วก็ให้รู้สึกขึ้นมาทันทีว่าสิ่งที่ท่านนี้พูดถึงเป็นความจริงที่หลายมองข้าม ยังไม่หมดนะครับท่านผู้นี้เสนอแนวทางแก้ไขไว้น่าสนใจดังนี้ครับ
“เหตุใดจึงไม่มีการนำเสนอโครงการนำร่องในพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก ซึ่งมีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีการควบคุม ให้เป็นไปตามหลัก GAP ซึ่งคิดว่าสามารถปฏิบัติได้ในบางพื้นที่ อย่าง เช่น นครปฐม อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นพื้นที่หลักในการปลูกพืชผัก ที่ใช้ในการส่งออกอยู่ ณ ปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งหากสามารถกำหนดพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นจุดยุทธศาตร์ ในการเพาะปลูกพืชผัก เพื่อการส่งออกและมีการควบคุมอย่างถูกต้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก จะมาซื้อพืชผัก จากพื้นที่ที่มีการควบคุมนี้เพื่อการส่งออก โดยที่ผู้ประกอบ และผู้ส่งออก ไม่ต้องไปลงทุนในการเพาะปลูกพืชผักเพื่อส่งออกเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง”
ผมเองเคยได้ร่วมการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดนครปฐม ก็ได้เสนอแนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์ไว้มากพอสมควร หลายเดือนก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่ง ถามผมว่าเห็นด้วยกับการทำGlobal GAP หรือไม่ ? เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นัดกับเจ้าของสวนอาหาร แถว ๆ มุมถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนราชพฤษ์ นั่งรัปทานอาหารกันและสนทนากันถึงเรื่องวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ตอนหนึ่งผู้ประกอบการท่านนี้เอ่ยว่า ท่านไม่รับประทานถั่วฝักยาว เพราะพี่สาว(เป็นเกษตรกร)บอกว่า “ถั่วฝักยาว เกษตรกรปลูกเองแต่ไม่รับประทานเอง” นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงสาเหตุที่ท่านผู้ประกอบการเขียนมาในวงเล็บว่า “เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร”
และท้ายของเมล์เป็นคำถามที่น่าสนใจลองอ่านดูครับ
“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ จะนำเสนอความจริง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นกับทางภาครัฐ หรือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ยังคงเงียบ และยอมรับในกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากทางภาครัฐ จนต้องยอมเลิกอาชีพ หรือปิดโรงานกันไป”
สิ่งที่เกิดขึ้นและคำถามที่ผมเก็บมาเล่าสู่กันฟังล้วนมาจากสาเหตุจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสิ้น แต่ที่สุดก็มาลงโทษที่ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ อันนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมหลายท่านในกรมมีข้ออ้างต่าง ๆ นา แต่ถ้าทุกคนมีข้ออ้างเหมือนกันหมด สุดท้ายเราก็ส่งผักและผลไม้ไปขายที่ไหนไม่ได้ ผมเห็นด้วยกับผู้ประกอบการรายดังกล่าวที่ควรจัดทำแผนแม่บทให้ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองลงมาดูเลยครับเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้ว่าผักผลไม้จะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรรายย่อย แต่มูลค่าไม่เร้าใจ ทำแล้วคะแนนนิยมไม่ขึ้น สู้พืชหลัก ๆ ไม่ได้ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสัมปะหลัง หรือถ้าเป็นผลไม้ก็สู้ ลำไย มังคุด ลองกอง ทุเรียน ไม่ได้ เพราะช่วยแล้วเห็นน้ำเห็นเนื้อ
ผมเห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบระดับสูงสุดของประเทศต้องกำหนดเป็นนโยบายหลักที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วม ทุกวันนี้มีคณะกรรมการหลายชุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกษตรกรไม่ได้ออกความคิดเห็นเลย เวลานั่งโต๊ะประชุมกัน มีนักวิชาการ มีปลัด มีอธบดี มีผู้อำนวยการ หัวหน้าหน่วยงานเต็มไปหมด มีหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร อยู่ 2-3 คน มานั่งเป็นพระอันดับพูดไม่ทัน ไม่รู้จะเสนอความคิดเห็นอะไร เพราะไม่ถูกหลักการบ้าง ไม่สามรถปฏิบัติได้ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน จิปาถะที่สุดก็พิจารณาตามท่าน ๆ ทั้งหลายที่เสนอความคิดเห็น(ที่จริงไม่ต้องประชุมก็มีคำตอบมาแล้ว,มาเพื่อเซนต์เอกสารรับรองการประชุมผ่านทางเบี้ยประชุม)ที่ผมพูดนี่ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาพูดลอย ๆ เป็นคณะกรรมการกับเขาด้วย เข้าไปถึง บางทีหัวหน้ากลุ่ม ประธานกลุ่มเกษตรกร ไม่มาเพราะมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร รถก็ติด ที่สุดก็อ้างติดธุระโน่นบ้างนี่บ้างไม่ได้เข้าร่วม สุดท้ายผลก็ออกมาอย่างที่เห็นๆ
จากเมล์อีกฉบับซึ่งผมได้พยายามติดต่อและขอความกรุณาจาก อาจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ นักวิชาการ และนักประฏิบัติการที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้อยู่ห่างไกลวิชาการ เพื่อให้ท่านรบกวนช่วยสอบถามอาจารย์ของท่านที่ไต้หวันว่าเขาทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ รัฐเข้ามาช่วยอย่างไร ผมได้รับความเมตตาจากท่าน และรศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยจงชิน สรุปใจความว่า
“จากประเด็นที่อาจารย์ถามถึงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่มีต่อภาคการส่งออกมะม่วงในแง่ของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องสารเคมีตกค้าง สรุปได้ดังนี้
1. ผู้ส่งออกและชาวสวนจะทำข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบของสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่รายละเอียดของสัญญาประกอบด้วยพื้นที่การผลิต ปริมาณผลผลิต มาตรฐานผลผลิต และราคา ในฤดูกาลที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
2. ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบโดยตรง
3. หน่วยงานของรัฐบาลจัดทีมงาน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการตลาด เป็นต้น) ตระเวณช่วยชาวสวนทุกพื้นที่ที่ได้ส่งข้อมูล (ในข้อที่1)ไปให้โดยเน้นที่การให้ความรู้และการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดต่างประเทศ
4. สุ่มตัวอย่างผลผลิตมาตรวจสารเคมีตกค้างก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ถ้าผ่านการตรวจสอบ (โดยรัฐบาลเป็นผู้รับรอง) จึงจะสามารถสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในครั้งที่สองได้
5. ตรวจสารเคมีตกค้างครั้งที่สองและต้องรีบทำให้เสร็จเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะสามารถนำมะม่วงไปอบไอร้อนได้และสามารถส่งออกได้ต่อไป
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสารเคมีตกค้างรัฐบาลและผู้ส่งออกจะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง
ข้อมูลหลักๆสรุปได้ตามนี้ค่ะ ทั้งนี้ได้แนบข้อมูลจาก รศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือมาให้เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลด้วย”
ผมเอาเมล์มาลงให้อ่าน แล้วลองดูประเทศที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าประเทศไทย มีภัยธรรมชาติสูงกว่า ค่าแรงสูงกว่าเราหลายเท่าตัว รัฐสนับสนุนอย่างไร? จึงไม่แปลกว่าทำไมไต้หวันซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ เกษตรกรและผู้ส่งออก จึงมีองค์ความรู้ มีจิตวิญญาณ มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ ผลิตเกษตรกร ที่มีความรับผิดชอบสูง ภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัย ช่วยกันพัฒนาในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน นโยบายรัฐชัดเจน เพื่อส่งเข้าแข่งขันในเวทีโลก หากประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน และจะเป็นครัวของโลกที่มั่นคงยั่งยืน ในขณะเดียวกัน หากยังมีฐานคิดที่แบ่งแยกกันอยู่ ไม่นานเกินรอ “สารพิษตกค้าง:ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน”

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รูปแบบการผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์แบบ 5 Ms : ล้มมะม่วงไปปลูกอะไรดีเอ่ย?


วันสำคัญ คือวันแม่ จะล่วงเลยพ้นไปก็ตามที แต่ความรัก ความเคารพ กตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้ายังคงตรึงตราสนิทแนบแน่นมิรู้เสื่อมคาย หลายช่วงหลายเวลาที่กว่าจะผ่านพ้นภัยทั้งหลายทั้งปวงจนเติบใหญ่เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม “แม่” เป็นกรอบและแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติ ยามใด พลังแห่งความรักอ่อนแอลง แรงแห่งความโหยหาเพิ่มทวีพูล ความทุกข์ยากมาเยี่ยมเยือน แม่อีกนั่นแหล่ะที่เป็นทั้งแรงพลักดัน เป็นทั้งกำลังใจและเป็นทั้งน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้ชุ่มชื่นแข้มแข็ง ฝ่าฟันอุปสรรค์ทั้งหลายนานับประการ จนเติบใหญ่กลายเป็นคนดีของสังคมในทุกวันนี้...วันแม่จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ของทุกคน ทุกวัน ทุกเวลา และทุกสถานที่ ไม่มีวันเสื่อมคลายจากหัวใจผู้เป็นลูกตลอดชั่วนิจนิรันดร์...
สัปดาห์กลางเดือนกรกฎาคม 2553 ผมได้รับเชิญจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นเจ้าของไร่ใหญ่ ย่านอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นแหล่งผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ มีเนื้อที่การผลิตมากกว่าสองพันไร่ขึ้นไป ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มากกว่าแสนต้น ต้นขนาด 5 ปีพร้อมผลิดอกออกผลมากกว่าเจ็ดหมื่นต้น และประมาณสามหมื่นต้นที่อายุ 2-3 ปี คาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ในจำนวนแสนกว่าต้นจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ คาดการณ์ว่าน่าจะได้ราว ๆ สักสี่ห้าพันตันต่อปี ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ ที่เหลือเป็นมะม่วงมะม่วงมหาชนกสักสามหมื่นต้น พันธุ์อื่น ๆ ไม่มากนักไว้พอประดับไร่ พื้นที่แห่งนี้กำลังถูกจัดการเชิงระบบ ระดมนักวิชาการ นักปฏิบัติการ เพื่อจัดการฟารม์ในเชิงพาณิชย์ ไร่นี้จะเป็นไร่ตัวอย่างของประเทศที่หลายคนกำลังแสวงหารูปแบบ (Model) ในการผลิตมะม่วง ให้บรรลุเป้าหมายในทุก ๆ ด้าน โดยมีหลักการจัดการที่สำคัญ อยู่ 5 ด้านใหญ่ๆ ด้วยกัน ผมให้ชื่อว่า 5 Ms คือ ด้านบริหารงานบุคคล(Man) ด้านบริหารการเงิน(Money) ด้านบริหารอุปรณ์เครื่องมือเครื่องใช้(Material) ด้านบริหารจัดการทั่วไป(Management) และสุดท้ายด้านบริหารตลาด(Marketing) การเยี่ยมชมครั้งนี้ในฐานะที่ผมได้รับเชิญ ให้ไปดูความก้าวหน้า และให้ข้อคิดเห็นในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญ ความคิดเห็นและดูแลในด้านการตลาด ซึ่งกำลังออกแบบวางแผนให้สอดคล้องกับอีกสี่ด้านที่กล่าวมา ผมขอนำมาเล่าสู่กันฟังเผื่อว่าหลายท่านกำลังมองหา ว่าจะผลิตมะม่วงในเชิงพาณิชย์แบบไหนที่เป็นรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริงและเหมาะสมเป็นไปได้กับแปลงผลิตของท่านที่มีอยู่
ด้านแรก คือ ด้านบริหารงานบุคคล (Man) ผมได้สนทนากับผู้ใหญ่ท่านนี้หลายครั้งและสรุปตรงกันว่า คนคืออุปสรรค์ที่สำคัญที่สุดในการดำเนินกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย คนเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบกิจการให้เจริญรุ่งเรืองเติบโตและยั่งยืน และคนอีกนั่นแหล่ะครับ ที่ทำให้กิจการนั้นผ่านพ้นวิกฤตในแต่ละช่วง แต่ละครั้งไปได้ตลอดปลอดภัย เราไม่ได้พูดถึงแค่คนในการทำงานเท่านั้น แต่เราเริ่มต้นพูดถึง ผู้บริหารสูงสุดที่จะทำงานนั้น ๆ ยกตัวอย่างการทำสวนมะม่วงไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก มาเล่าให้ฟัง เจ้าของสวนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากเจ้าของสวนไม่มีความมุ่งมั่น ไม่มีความเพียร ไม่ขยันอดทน ไม่อดทนรอ รอจนประสบความสำเร็จ ไม่เรียนรู้ ไม่เข้าใจในงานที่ทำอย่างลึกซึ้ง ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีเมตตา และไม่ให้อภัย(คือคุณธรรมของผู้บริหาร) คิดแค่เป็นเพียงงานอดิเรก ทำสนุก ๆ เพราะอยากจะพักผ่อน อยากมีสวนไว้อวดเพื่อนฝูง ไว้พักผ่อน อันนี้อย่าได้หวังคิดเลยที่จะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ เพราะเนื้อหารายละเอียดของงานด้านการเกษตร เป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน มีตัวแปรที่เป็นความเสี่ยงมากมาย ผู้ใหญ่ท่านนี้ปรารถให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
“เรามีต้นมะม่วงหนึ่งแสนต้น ก็เหมือนเรามีลูกหนึ่งแสนคน! แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน มีนิสัย อารมณ์ ความชอบ มีโรคภัยไม่เหมือนกัน กินอิ่มกินเต็มไม่เท่ากัน มีภูมิต้านทานต่างกัน สมบูรณ์ไม่เท่ากัน เครียดบ้าง สุขบ้าง แตกต่างกันไป เราต้องแยกแยะแบ่งกลุ่ม แยกวิธีการ ต้องใช้วิธีการหลายแบบหลายวิธี บางอย่างใช้วิธีการเดียวกันได้ บางอย่างต้องแยกใช้คนละวิธี บางครั้งต้องป้องกัน บางครั้งต้องช่วยเหลือ บางอย่างต้องรักษา และบางครั้งต้องช่วยเสริมเพิ่มเติมเต็ม เหล่านี้ต้องให้ความสนใจ ดูแล สังเกตุ มั่นตรวจตรา ตรวจสอบ อย่างตั้งใจ มิใช่นั่งโต๊ะอยู่กรุงเทพ แล้วสั่งการ ป่วยการทำเปล่า ๆ มีเท่าไรก็หมด สุดท้ายก็ปล่อยทิ้งรกร้างอย่างน่าเสียดาย”
รองสำรวจตัวเองว่า มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละในการดำเนินธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ท่านก็แสวงหาคนที่จะรับผิดชอบที่มีลักษณะคล้ายท่าน คำว่าแสวงหา คงไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด เพราะคนที่จะมีคุณสมบัติเหมือน ๆ กัน ยิ่งเป็นคุณสมบัติดีเลิศด้วยแล้ว มีจำนวนน้อยลง น้อยลง นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญในการค้นหา แสวงหา สืบเสาะ เพื่อให้ได้คนเหล่านั้นมาร่วมงาน และเมื่อเราได้คนเหล่านั้นมา เขาเหล่านั้นจะทำหน้าที่แตกเหล่าแตกกอของคนดี กระจายออกไปเพื่อเสาะแสวงหาคนดีเพิ่มเติมในแต่ละระดับชั้นลงไป เราจะเริ่มได้คนที่มีรูปแบบ แนวทาง ลักษณะที่คล้ายคลึงกันเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลา ที่พูดจะว่ายากจนทำไม่ได้ก็ไม่ใช่ เพราะในการเลือกคนนั้นย่อมมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ถึงอย่างไร ยังดีกว่าเราไม่มีรูปแบบในการเสาะแสวงหาคนเอาเสียเลย!!
การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ต้องอาศัยคนป็นแกนหลัก มากกว่ารูปแบบที่ตายตัวนำใครก็ได้มาใส่ลงไปในรูปแบบนั้นเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยผสมผสานกัน เพราะเกษตรกรรมต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและประสบการณ์ บูรณาการกับความอดทน ขยันหมั่นเพียร ทุ่มเทเสียสละ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เมตตาแบ่งปันและให้อภัยเป็นพื้นฐาน ผู้บริหารสูงสุด หมายถึงเจ้าของ ผู้บริหารที่รับผิดชอบโครงการ หัวหน้าหน่วยงานนั้น และคนงานต้องมีแนวคิด แนวปฏิบัติ มีความเข้าใจในแนวทางเดียวกันอย่างลึกซึ้ง เรียกว่า ทำงานร่วมกันอย่างมีทัศนคติที่ดีต่องาน ต่อองค์กร ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเหมือนครอบครัวเดียวกัน
ผมได้พบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านนี้มานานกว่า 4 ปี พบว่าท่านมีลักษณะที่สำคัญอย่างที่ผมกล่าว ท่านแสวงหาคนที่มีลักษณะพิเศษ เพราะท่านเชื่อว่าไม่มีอะไรที่คนเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำแล้วทำไม่ได้ ท่านอาจจะไม่รอบรู้วิชาการด้านเกษตรมากที่สุดแต่ท่านพยายามเรียนรู้ และที่สำคัญท่านรู้จักเลือกใช้คนที่รู้จริง ทำจริง อดทน ขยัน หมั่นเพียร ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เมตตาและแบ่งปันมาร่วมทำงาน นี่คือหัวใจสำคัญของการบริหารงานบุคคล ที่ลำลึกและแยบยลที่สุดของผู้ใหญ่ท่านนี้
การทำมะม่วงเชิงพาณิชย์ หลายคนอาจจะเข้าใจ และหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าการทำมะม่วงในเชิงพาณิชย์นั้นจำเป็นต้องบูรณาการเอาองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชามาหลอมรวมเป็นองค์ความรู้และเป็นเอกภาพผ่านการบริหารจัดการอย่างมีระบบ บางท่านมองว่าเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับผมและอีกหลายท่านมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำมะม่วง หรือไม้ผลเชิงพาณิชย์ เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ความมุ่งมั่นความตั้งใจ ความละเอียดอ่อน ตลอดจนเป็นความปราณีตบรรจง ทั้งคนคิดวางแผน และคนปฏิบัติด้านเกษตรกรรม การที่จะหาคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตรกรรมอย่างดื่มด่ำ เพราะเป็นงานที่นอกเหนือจากต้องมีความรู้ในทุก ๆ ด้านแล้ว ยังต้องรักเกษตรกรรม ขยัน อดทน ทนรอความสำเร็จ(หากไม่สำเร็จในปีนี้ก็ต้องรอในปีต่อ ๆ ไป) นี่เองจึงเป็นปัญหากับการแสวงหาคนที่จะมาดูแล และยิ่งมืออาชีพที่รับจ้างบริหารงานในลักษณะอย่างนี้ ยังไม่มีสถานศึกษาไหนเปิดการเรียนการสอน เมื่อรับสมัครคนมาทำงานก็มักจะได้คนที่รู้ไม่จริง รู้ไม่รอบลึก ไม่ขยัน ไม่ละเอียด ไม่อดทน การที่คนเราจะมีสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะต้องมีความรักความชอบเป็นทุนแล้ว ผลตอบแทนต้องสมน้ำสมเนื้อด้วย หลายคน หลายองค์กรตีค่าราคาอาชีพเกษตรกรต่ำ บางครั้งต่ำเกินไปกว่าวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา หรือเราแสดงความสามารถไม่สมกับราคาก็ไม่รู้...
เท่าที่ผมรู้จักกับเจ้าของสวนแห่งนี้มา ท่านพยายามหาคนที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมา ดังนั้นในด้านบริหารจัดการแปลงปลูกและภาพรวม ท่านจึงได้เชิญ รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ แห่ง ฝ่ายไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร เป็นผู้ออกแบบพัฒนาไปพร้อมกับเจ้าของสวน และทีมงาน อย่างลงตัวในที่สุด
วันนั้นผมได้มีโอกาสได้ร่วมสำรวจ และเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากที่ “อาจารย์ฉลองชัย” ได้เข้ามาให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติการ เนื่องจากมีประสบการณ์ในด้านไม้ผลมานาน ประสบการณ์ที่ผมกล่าว เป็นประสบการณ์ที่ผ่านการบูรณาการทั้งวิชาการและปฏิบัติการ ไปพร้อม ๆ กัน ความสำคัญที่หลายคนพูด หลายคนทำ แตกต่างจากที่ “อาจารย์ฉลองชัย” ทำอย่างเห็นได้ชัด ด้านแรกที่เห็นถึงความแตกต่าง คือการแบ่งโซนออกเป็น 5 โซนเพื่อง่ายและสะดวกในการวางแผน ปฏิบัติการ และควบคุมอย่างเป็นระบบ ส่วนที่สอง การตัดแต่งกิ่งที่เริ่มโต และหลังการเก็บเกี่ยวอย่างมีระบบ ในส่วนที่เพิ่มเติม และเพิ่มใหม่โดยนำสายพันธ์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทนที่ ส่วนที่สามรื้อถอนต้นที่เป็นสายพันธ์ต้นตอเก่าออกหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานสูงสุดของสายพันธ์ อย่างที่สี่การจัดการแปลงที่รกไปด้วยวัชพืช มีการวางแผนอย่างละเอียด ตั้งแต่ปรับแต่งแนวแปลงให้ง่ายต่อการใช้อุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสม และประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด อย่างที่ห้า การเดินสายท่อน้ำผ่านทุกต้นอย่างปราณีต เพราะตระหนักว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไม้ผลอย่างมะม่วง และการวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอ อย่างที่หก ด้านบริหารจัดการคน มีการฝึกอบรม และทำเอกสาร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นระหว่างหัวหน้างาน คนงาน ผู้บริหาร มีการฝึกอบรมในด้านความรู้ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ อย่างละเอียด อย่างที่เจ็ด การผสมผสานสูตรสำเร็จเข้ากับประสบการณ์ที่จะต้องเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงกันวันต่อวัน อย่างที่แปดการวางแผนด้านการเงิน ได้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนล่วงหน้ากับด้านการตลาด เพื่อกำหนดช่วงเวลาในการผลิต และให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการทางด้านการเงิน การพัฒนาจัดการแปลง และงานบุคคล ไปพร้อม ๆ กับการวางแผนการตลาดทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว
การบริหารการเงิน(Money) หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อันนี้ผมว่าสำคัญพอ ๆ กัน เพราะเนื่องจากปัจจุบัน การทำธุรกิจการเกษตร ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปุ๋ย สารเคมี รวมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักรกล เหล่านี้เมื่อจัดการเชิงพาณิชย์ การจัดหาต้องมีการวางแผนอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับการใช้ในแต่ละช่วงเวลา การต่อรอง ทั้งราคา และคุณภาพ ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ จึงถูกกำหนดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เงินจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลงทุน สินค้าเกษตรเป็นผลผลิตที่ต้องลงทุนก่อน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เงินทุนสำรองต้องถูกวางแผนทุกระยะอย่างละเอียดรอบคอบ คนที่สามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติการในงานนั้น ๆ มีความรู้ในด้านการเงินเป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องยาก เพราะการลงทุนด้านการเกษตร เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลา รอผล มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมาย และตัวแปรเหล่านั้น มีทั้งควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ แต่สามารถเฝ้าระวัง แก้ไขอย่างใกล้ชิดได้ตลอดเวลา
เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ต้องมีอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ดังนั้น การทำเกษตรเชิงพานิชย์ บางครั้งโอกาสมีแต่เราไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เราก็เสียโอกาสได้เช่นกัน หลายคนอาจจะคิดว่าทำเกษตรเชิงพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุน ผมขอบอกเลยว่าทำไม่ได้ครับ มีน้อยยังทำไม่ได้เลย เพราะถ้ามีน้อยเราก็จะเข้าอีลอป ทำไปตามยะถากรรม รอ ฝน รอเทวดา ที่สุดได้ไม่คุ้มเสียครับ หรือมีมากจนเกินไป ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการทำงานเสียทุกเรื่อง ดังนั้นต้นทุนเราก็จะสูงกว่าคนอื่น เมื่อนำมาคำนวนต้นทุน ราคาขายเราจะสูงกว่าคนอื่น จะเกิดปัญหาขายไม่ได้ ที่สุดต้องลดราคา ขายต่ำกว่าทุน ดังนั้นการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผล จึงเป็นข้อที่ต้องระมัดระวังมาก หลายคนอาจจะสงสัยว่าใช้อย่างไร ใช้อย่างชาญฉลาด นั่นก็หมายความว่า มีการวางแผนในการใช้อย่างองค์รวม และเป็นระบบ ทบทวนศึกษาขั้นตอนกระบวนการใช้อย่างพิถีพิถัน คำนึงตลอดเวลาว่าเงินมีน้อย การใช้เงินแต่ละบาท แต่ละสตางค์ต้องคุ่มค่ากับการลงทุน เช่นบางท่านไม่รู้ว่าการใช้ปุ๋ย ใช้ยาที่ถูกวิธีเป็นอย่างไร ถ้าใช้ถูกวิธีลดค่าใช้จ่ายไปได้เท่าไร ใช้ไม่ถูกวิธีเพิ่มเงินไปอีกเท่าไร การจ้างคน ถ้าจ้างคนที่มีประสบการ์แพงกว่า คนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่เนื้องานที่ได้ และคุณภาพที่ได้ตอนสุดท้ายแตกต่างกัน เช่นการจ้างคนฉีดสารเคมี ที่มีประสบการณ์ แพงกว่า แต่ทำได้ดีกว่า ผลผลิตติดดอกออกผลได้ดีกว่า การห่อผลก็เช่นกัน จ้างคนงานที่มีประสบการณ์เรียกค่าแรงแพงกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ แต่ผลผลิตที่ออกมาเป็นเกรด เอ หรือ บี มีความแตกต่างกันเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องคิดคำนวนอย่างเป็นระบบ และละเอียดถี่ถ้วน หากคิดเพียงลูกน้องรายงานว่าต้องการเงินเท่านั้นเท่านี้ ก็จ่ายอย่างเดียว ที่สุดหมดทุนหน้าตัก ฝักเงินเก่ามาทำไม่นานก็ไปไม่รอด
การบริหารอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้(Material) ต้องเพียงพอในการใช้งาน และสะดวกต่องานนั้น ๆ อย่าเอาของชนิดหนึ่งมาใช้กับอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้แล้วไม่สมารถทำได้ตามที่เราวางแผน วันก่อน ผมเห็นที่ไร่ดังกล่าวใช้รถฉีดสารเคมีค่าวัชพืช ผมเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้ที่ทุกอย่างถูกออกแบบมาอย่างลงตัว นับตั้งแต่การทำคันดินขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้อุปกรณ์ การดัดแปลงอุปกรณ์ในการทำงานให้เหมาะสม ประหยัดลงตัวมาก นั่นก็หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ถูกคิด และออกแบบด้วยนักวิชาการที่มีประสบการณ์อย่างละเอียด ปราณีตบรรจง จากที่เคยใช้คนจำนวนมากในการกำจัดวัชพืช เปลี่ยนมาใช้รถพ่นสารเคมีในการปราบวัชพื้ชแทน ทิ้งระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก เป็นต้น
สารเคมี ปุ๋ย และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องถูกวางแผนการจัดซื้อย่างมีระบบ และมีการต่อรองจากบริษัทใหญ่ที่รับประกันทั้งคุณภาพ และราคา ขจัดเรื่องปัญหาปุ๋ยและสารเคมีปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน การสั่งซื้อเป็นลอท ๆ มีการวางแผนการใช้การสั่งซื้ออย่างเป็นระบบ เครื่องมือและอุปกรณ์ก็เช่นกัน มีการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้มีอายุการใช้งานคุ้มค่ากับการลงทุน มีผู้รับผิดชอบในแต่ละชนิดโดยผู้ชำนาญในแต่ละเรื่องนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการบริหารจัดการทั่วไป (Management) อันนี้ถือว่าสำคัญ หากมีการการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้บริหารสูงสุด ผู้บริหารระดับรองๆลงมาอย่างจริงจัง การค้นหาสภาพปัญหาที่แท้จริง เกิดจากการสอบถามจากผู้รู้ ทั้งด้านวิชาการ ประสบการณ์ และผู้ปฏิบัติงานจริง จะได้สภาพปัญหาที่แท้จริง นำสภาพปัญหาเหล่านั้นมาจัดหมวดหมู่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการนำปัญหานั้น ๆมาตั้งเป็นประเด็น และหาแนวทางในการแก้ไข กำหนดแนวทางในการจัดการอย่างชัดเจน มอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบที่แบ่งเป็นส่วน ๆ อย่างชัดชัดเจนในการผลิตที่มีแปลงปลูกจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการแบ่งโซนในการผลิตอย่างชัดเจน มีหัวหน้าคุมแปลงแต่ละโซนอย่างชัดเจน ดูแลจัดการ ติดตาม เฝ้าระวังตามแผนที่วางไว้ มีการควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบซึ่งแยกแยะออกเป็นรายละเอียดย่อย ๆ เพื่อให้ผู้ติดตามสามารถกับกับดูแลให้เป็นไปตามแผนย่อย ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการบริหารจัดการตลาด(Marketing) ผมมีโอกาสเข้ามาร่วมบริหารการตลาดอย่างเป็นระบบเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มตั้งแต่ ตัวผลผลิตที่จะผลิต (มะม่วง ชนิด และสายพันธ์) วัตถุประสงค์ของการผลิต และตลาดที่จะขาย โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะผลิตมะม่วงที่เป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ เพราะสามารถขายได้ราคาคุ้มค่ากับการลงทุน ช่วงเวลาในการผลิต ตั้งแต่กรกฎาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงเลือกการเพิ่มสายพันธ์น้ำดอกไม้สีทอง เพื่อทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก การเพิ่มสายพันธุ์แท้ที่มาจากต้นต่อพันธุ์แท้ ไม่มีการต่อยอดจากต้นตอสายพันธ์อื่น ที่มีอยู่ก็รื้อออกหมด
เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้สายพันธุ์แท้ตรงตามสายพันธ์ ไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น การปลูก และการเว้นระยะถูกจัดการใหม่โดยผู้ชำนาญการ เป็นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติการ มากด้วยประสการณ์ในเรื่องมะม่วง ทุกอย่างถูกจัดสรรอย่างลงตัวเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องมือ อุปกรณ์สมัยใหม่ ตลอดจนการให้น้ำระบบสายที่ส่งตรงถึงทุกต้นในไร่ที่กว้างใหญ่ บ่อน้ำสำรองถูกคิดและวางไว้บนพิมพ์เขียว และดำเนินการอย่างชาญฉลาดของเจ้าของ และผู้เชี่ยวชาญ การตรวจสอบดินถูกทำอย่างละเอียดทุกแปลงที่ถูกแบ่งเป็นโซนอย่างเหมาะสม
การกำหนดการตัดแต่งกิ่ง การเร่งตาดอกถูกวางแผนร่วมกับการบริหารการตลาด ที่ต้องการให้เก็บเกี่ยวผลในช่วงเดือน พฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม (ในปีนี้) และในปีต่อไป จะเริ่มออกและเก็บเกี่ยวได้ในช่วง กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม จนถึงมกราคม และลดน้อยลง ในเดือน กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป ภายในหนึ่งรอบปี จะมีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในระยะ 8 เดือน และพักต้น 4 เดือน นี่เป็นการวางแผนโดยเอาตลาดเป็นตัวตั้ง เพราะช่วงดังกล่าว ฝนชุก อากาศร้อน สร้างปัญหาในการสร้างตาดอกต่อเกษตรชาวสวนมะม่วง ผมได้เดินและปรารภกับอาจารย์ ถึงตาดอกที่ได้รับความเสียหายในช่วงเดือนกรฎาคม เพราะที่ผ่านมาร้อนจัด เพลี้ยเข้าทำลายตาดอก แต่ท่านก็เตรียมแผนสำรองเร่งตาดอกใหม่ให้เก็บเกี่ยวได้ในช่วง พฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม ซึ่งความต้องการของตลาดยังสูงอยู่(ทั้งตลาดภายใน และภายนอก) เพราะช่วงคริสมาส ช่วงปีใหม่ อีกทั้งตลาดเกาหลี และญี่ปุ่นเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เป็นช่วงที่เหมาะสม ในขณะที่ทั่วโลกอากาศเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ยุโรป แคนนาดา รัสเซีย มีความต้องการผลไม้จากเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่วนตลาด จีน สิงคโปร์ มาเลย เวียตนาม อินโดนิเซีย ยังคงรองรับมะม่วงเกรดรองได้อย่างไม่อั้น หลายต่อหลายสวนเริ่มทำให้ออกในช่วงนี้ ถึงปริมาณจะเริ่มเพิ่มขึ้น ราคาเริ่มลดลงบ้าง แต่ยังคงรักษาระดับกำไรในมาตรฐาน ในปีต่อ ๆ ไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อธรรมชาติและอากาศเป็นใจ ในช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม ปริมาณและราคาอาจจะเป็นอุปสรรคในการผลิตมะม่วงในอนาคตข้างหน้า ส่วนตลาดที่ต้องรองรับมะม่วงตกเกรด เราต้องเตรียมการณ์แปรรูปมะม่วงแช่แข็ง มะม่วงอบแห้ง และอื่น ๆ เพื่อรองรับปริมาณที่จะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะนำมาเล่าให้ฟัง...
ถึงอย่างไร การผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง กุมภาพันธ์ ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ของเกษตรกร แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึง ประเด็นแรก การแบ่งโซนที่ให้ผลผลิต กระจาย ไม่กระจุกตัว สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพัฒนาต่อยอดจัดทำแผนแม่บทร่วมกันอย่างจริงจัง ประเด็นที่สอง สายพันธ์ที่ควรส่งเสริมและพัฒนา ควรทำอย่างจริงจัง ให้ยังคงเป็นสายพันธ์ที่เป็นที่นิยม รูปทรงถูกต้อง รสชาติดี สีสรรทั้งภายนอกและภายใน ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกแซงจากสายพันธ์อื่นทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ประเด็นที่สาม ขนาด ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง เพราะต่อไปในอนาคต ความต้องการของมะม่วงแม้ว่าจะมีมากขึ้น แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเรื่องของคุณภาพ รสชาต ผิวพรรณ รูปลักษณ์ ความปลอดภัย เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลตรงต่อ ราคา และประเด็นที่สี่ราคาในอนาคตจะเป็นเครื่องชีวัดความสำเร็จที่สำคัญของการผลิตมะม่วงนอกฤดู หลายคนกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตอนนี้โก่งราคาได้ตามใจชอบ แต่อย่าลืมนะครับว่า ผู้บริโภคคือผู้ตัดสินคนสุดท้าย ไม่ใช่ผู้ซื้อ ผู้รวบรวม หรือผู้ส่งออก ในท่ามกลางการแข่งขันจากผลผลิตนานาชนิดจากทั่วโลก การไม่เอาเปรียบผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมคือความชอบธรรมที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ผู้บริโภค เพื่อกลับมาซื้อซ้ำ(Repurchasing) และบอกต่อ (word of mouth) ทำให้เกิดความเติบโต มั่นคง และยั่งยืน อย่าเพลอมองผู้บริโภคคือ “หมูที่อยู่ในอวย” ที่สุดจะหาข้ออ้างให้ตัวเองว่า ของมีน้อย ผลิตยาก “ฉันจะขายแพง” ไม่ซื้อ... ขายคนอื่นก็ได้!!! และเมื่อถึงวันนั้น...วันที่ไม่มีใครเข้าไปซื้อเรา คำตอบที่ตามมาคือ “ล้มมะม่วงไปปลูกอะไรดีเอ่ย.......”

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Moral Loyalty Model

รูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับ

ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ

THE LINEAR STRUCTURAL RELATIONSHIP MODEL BETWEEN
MORAL OF SCHOOL ADMINISTRATORS AND ORGANIZATION LOYALTY OF CLIENTS.
ชฎิล นิ่มนวล.

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบ 1) องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร 2) ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ และ 3) รูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่เปิดสอนในปี 2550 จำนวน 435 โรงเรียน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีแบบกลุ่ม(Cluster Sampling)ได้จำนวน 90 โรงเรียน แต่ละโรงเรียนมีผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา, รองผู้บริหาร, ครูผู้สอน 2 คน, คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง รวมทั้งสิ้น 540 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นบนพื้นฐานแนวคิด การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ทฤษฎีคุณธรรมจริยธรรม และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สำหรับวิเคราะห์ค่าทางสถิติ ได้แก่ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหาร ใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ สำหรับการวิเคราะห์ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างรูปแบบตามทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญแบบมีโครงสร้าง เพื่อยืนยันรูปแบบ วิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ด้วยสถิติค่าร้อยละ (%) ประกอบตารางบรรยายสรุปผล
ผลการวิจัยพบว่า

1. คุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานครมี 14 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีสติสัมปชัญญะ การคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด ความประหยัด การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ การไม่เลือกปฏิบัติ ความอดกลั้น ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ความขยันหมั่นเพียร และฉันทะความพอใจ
2. ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ความมีชื่อเสียง ความสัมพันธ์ ความรู้สึก และความพึงพอใจ
3. รูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง ระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มีความสอดคล้องและกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยองค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ คือ ฉันทะความพอใจ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ความซื่อสัตย์สุจริต และการคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด
คำสำคัญ: รูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง/คุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา/ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริกาi

ABSTRACT
The purposes of this research were to find: 1) The moral factors of school administrators in Bangkok, 2) The organization loyalty of clients and, 3) The Linear structural relationship model between moral factors of school administrators and organization loyalty of clients. The sample was 90 schools in Bangkok. The data received from administrators, associated administrators, teachers, board of school and their parents of these selected schools totally 540 respondents. The research instrument was an unstructured interview and a questionnaire based on the Customer Relationship Management (CRM.) methodology, the moral theories and the experts interviewing
The statistic used for analyzing the data were percentage (%), mean (X), standard deviation (SD), and exploratory factor analysis. The organization loyalty of clients, the linear structural model were analyzed by using the confirmatory factor analysis, interviewing expert’s using percentages (%) and the concluded result tables.
1. The moral factors of schools administrators consisted of 14 factors namely responsibility, discipline, fairness, honesty, consciousness, maximize social utility, saving, result orientation, emotional quotient, nondiscrimination, suppress, public mind, perseverance and willingness2. The organization loyalty of clients consisted of 4 factors namely relationship, reputation, satisfaction and feeling3. The linear structural relationship models between moral of school administrators and organizational loyalty of clients were related. The moral factors of school administrators affecting the organization loyalty of clients namely willingness, responsibility, fairness, result orientation, emotional quotient, honesty and maximize social utility

KEY WORDS : THE LINEAR STRUCTURAL RELATIONSHIP MODEL / MORAL OF SCHOOL ADMINISTRATORS / ORGANIZATION LOYALTY OF CLIENTS

บทนำ

ในการบริหารจัดการสถานศึกษาหรือองค์การทางการศึกษานั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นหลักใหญ่คือ ผู้บริหารการศึกษาที่มีคุณธรรมจริยธรรม พฤติกรรมด้านจริยธรรมในการบริหารจัดการ คือพฤติกรรมที่ไม่ใช่เพียงแต่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นแต่ยังต้องเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องภายในกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมที่บุคคลในสังคมโดยทั่วไปยอมรับได้ นอกจากนี้คุณธรรมจริยธรรมนั้นยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะสร้างศรัทธา อันเป็นแรงจูงใจให้เกิดความรัก ความสามัคคีร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ทำให้ผู้ร่วมงานทุกคนในองค์การเกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในตัวผู้นำ (สุภัททา ปิณฑะแพทย์ 2008:14) ทำให้เกิด ความรู้สึกผูกพันธ์ ความพึงพอใจ ความสัมพันธ์ที่ดี สั่งสมเป็นชื่อเสียง ของสถาบันการศึกษา ทำให้ ผู้รับบริการ ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ปกป้อง บอกต่อ กลายเป็นความภักดีต่อสถานบันการศึกษานั้น ๆ ในที่สุด
ปัญหา
ปัจจุบันการพัฒนาโรงเรียนทั่วไปยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ทำให้ชุมชนไม่ให้ความสนใจ และขาดการช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ขาดความผูกพัน ขาดความพึงพอใจ และ โรงเรียนขาดการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การศึกษา จะต้องให้นักเรียนรู้จักตนเอง ครอบครัว และสังคมไทย สังคมโลก รู้ประชาธิปไตย รู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ การประกอบอาชีพ และการดำรงตนอย่างเหมาะสม ผสมผสานความรู้คู่กับการมีคุณธรรม สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และการตระหนักในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง
การจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครก็เช่นกันพบว่า ยังไม่ได้จัดตามสภาพแวดล้อม ชุมชนมีความหลากหลายในแต่ละโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนเหมือนกัน ผู้ปกครอง ชุมชน ผุ้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาน้อย ตลอดจนขาดการดูแลเอาใจใส่คุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติของ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ทำให้การจัดการศึกษาไม่สดอคล้องกับความต้องการของชุมชน ชุมชนไม่สนใจให้ความช่วยเหลือ ขาดความรู้สึกผูกพันต่อสถานศึกษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์การ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ กำหนดวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อทราบองค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร
2. เพื่อทราบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ
3.เพื่อทราบรูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณธรรมของผู้บริหารสถาน ศึกษากับความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ
กรอบแนวคิดของการวิจัย
กรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย ใช้แนวคิดการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management: CRM.) แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหาร และความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ ประกอบกับการสังเคราะห์ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน นำมากำหนดเป็นกรอบในการวิจัยดังนี้
1. คุณธรรมของผู้บริหาร ผู้วิจัยได้รวบรวมทฤษฎี จากเอกสาร ตำรา งานวิจัย และสังเคราะห์การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 15 คน ประกอบกับแนวทาง ของนงลักษ์ วิวิรัชชัย และคณะ (2551: ง) สำนักงานข้าราชการพลเรือน ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม (2545:13-23) เลนนิค และ คีล (Lennic D. & Kiel F.Z. 2005:24-25), และ วีลาสเควส (Velasquez 2002:129-131) นำมาสร้างเป็นข้อคำถามในแบบสอบถามในแบบสอบถาม 2. ด้านความภักดีต่อองค์การ(organization loyalty) ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีและแนวคิดด้านการตลาดเกี่ยวกับ การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ของธุรกิจ กับการศึกษามาประยุกต์ร่วมกัน ประกอบกับการสังเคราะห์จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยใช้ร่วมกับแนวคิดของ ลิชเชลด์ (Reichheld, 2001:187) คอทเลอร์ และ อาร์สตรอง(Kotler and Armstrong: 2001: 388) จอนสัน และ กัสทร๊าฟสัน(Johnson & Gustafsson 2001:116-117) ได้องค์ประกอบความภักดี 4 ด้าน คือ 1) ด้านความสัมพันธ์ (relationship) 2) ด้านความมีชื่อเสียง (reputation) 3) ด้านความพึงพอใจ (satisfaction) และ 4) ด้านความรู้สึก (feeling) โดยนำมาสร้างเป็นข้อคำถามใบแบบสอบถาม

คำนิยามศัพท์เฉพาะ
คุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา(Moral of school administrators) หมายถึง การประพฤติปฏิบัติของผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นความดีงาม และถูกต้องตามกรอบมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของสังคมสากลทั่วไป
ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ (Organization loyalty of clients) หมายถึง ความรู้สึก (felling) ผูกพันธ์ต่อองค์การของผู้รับบริการ อันได้แก่ ผู้ปกครอง พ่อแม่ ชุมชน ซึ่งเป็นความพึงพอใจ (satisfaction) ในคุณภาพของการศึกษา สถานศึกษา การให้บริการต่าง ๆ และการสร้างความสัมพันธ์ (relationship) ที่ดีต่อผู้รับบริการ สะสมเป็นชื่อเสียง (reputation) เกิดเป็นความภักดีที่เกิดขึ้นต่อองค์การ อันได้แก่สถานศึกษา

การดำเนินการวิจัย
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ประชากร คือโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เปิดสอนในปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 435 โรงเรียน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธี การเลือกตัวอย่างแบบกลุ่ม(cluster sampling) ได้จำนวน 90 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนในสถานศึกษา 2 คน กรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง รวมทั้งสิ้น 540 คน จำนวน 90 โรงเรียน รวม ใช้แบบสอบถามทั้งสิ้น 540 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูล ฉบับแรกได้จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ใช้ตารางบันทึกรวบรวมองค์ประกอบย่อย สร้างเป็นข้อคำถามในแบบสอบถามในฉบับที่สอง การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์เชิงบรรยาย โดยใช้สถิติ ค่า ร้อยละ(percentage) ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) ไค-แสคว์(Chi-square) การวิเคราะห์องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาใช้การวิเคราะห์เชิงสำรวจ(exploration factor analysis) สำหรับการวิเคราะห์ความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน(confirmatory factor analysis) การวิเคราะห์เส้นทาง การตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างรูปแบบตามทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปลิสเรล(LISREL) และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญแบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ด้วยสถิติค่าร้อยละ (%) ประกอบตารางบรรยายสรุปผล

องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา มีจำนวน 14 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความรับผิดชอบ 2) ความมีวินัย 3) ความยุติธรรม 4) ความซื่อสัตย์สุจริต 5) ความมีสติสัมปชัญญะ 6) การคำนึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด 7) ความประหยัด 8) การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 9) การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ 10) การไม่เลือกปฏิบัติ 11) ความอดกลั้น 12) ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ 13) ความขยันหมั่นเพียร 14) ฉันทะ ความพอใจ
และยังพบว่า พฤติกรรมคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวินัยเป็นกรอบควบคุมและมีองค์ประกอบคุณธรรมสนับสนุนได้แก่ ฉันทะความพอใจ ความขยันหมั่นเพียร ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์สุจริต
องค์ประกอบด้านความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษา มีความสัมพันธ์ต่อผู้รับบริการ
ความขยันหมั่นเพียรของผู้บริหารสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนความวินัยของผู้บริหารสถานศึกษ
ฉันทะความพอใจของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อวินัย สร้างความรู้สึกผูกพันธ์กับผู้รับบริการ และสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ ในที่สุดผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การ
ความเป็นผู้มีจิตสาธารณะของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษามีวินัย
ความยุติธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาทำให้ผู้รับบริการมีความรู้สึกที่ดี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นส่วนทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีองค์การ
การมุ่งผลสำฤทิ์ของงานของผู้บริหารสถานศึกษา สร้างชื่อเสียงให้สถานศึกษา และทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง สร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้รับบริการ และสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ ทำให้ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การ
ผู้บริหารสถานศึกษาที่ความซื่อสัตย์สุจริต จะทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความรู้สึกที่ดี ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อองค์การ
การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุดของผู้บริหารสถานศึกษา ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจ มีความรู้สึกที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดี สร้างชื่อเสียงขององค์การ ผู้รับบริการเกิดความภักดีต่อสถานศึกษา
องค์ประกอบความภักดีต่อสถานศึกษาของผู้รับบริการ มี 4 ด้านได้แก่ 1) ความมีชื่อเสียง 2) ความสัมพันธ์ 3) ความรู้สึก และ 4) ความพึงพอใจ และยังส่งผลในด้านต่าง ๆ ระหว่างกันคือ ด้านความรู้สึก ส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านชื่อเสียง, ด้านชื่อเสียงส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านความพึงพอใจ, และด้านความพึงพอใจ ส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์และด้านความรู้สึก
องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ส่งผลต่อกันเอง และไม่ส่งผลต่อองค์ประกอบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ คือ องค์ประกอบ ความอดกลั้น ความมีวินัย ความมีสติสัมปชัญญะ การไม่เลือกปฏิบัติ และความประหยัด
องค์ประกอบความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มีองค์ประกอบที่ไม่ส่งผลต่อองค์ประกอบใด ๆ เลย คือ องค์ประกอบด้านความสัมพันธ์
รูปแบบที่พัฒนาสร้างขึ้นมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีองค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษารวมทั้งสิ้น 14 องค์ประกอบ องค์ประกอบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ มีเพียง 7 องค์ประกอบ คือ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และฉันทะความพอใจ
องค์ประกอบที่ไม่ส่งผลต่อความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการมี 7 องค์ประกอบ ได้แก่ ความประหยัด ความมีสติสัมปชัญญะ การไม่เลือกปฏิบัติ ความอดกลั้น ความขยันหมั่นเพียร ความมีวินัย และความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ
ผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 6 คนพบว่า
ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความถูกต้อง การนำไปใช้ประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 6 ท่าน มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทั้งองค์ประกอบคุณธรรม และองค์ประกอบความภักดี มี ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในระดับมาก ความมีวินัย ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้บริหารมีความสำคัญมากที่สุด และยังให้ความเห็น คุณลักษณะของคนดี หมายถึงลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมของบุคคลที่คิด พูด และกระทำตรงกันในทางสร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับตนและสังคม ซึ่งเมื่อผู้บริหารสถานศึกษา มีวินัยในด้านต่างๆ ได้แก่ ความสนใจใฝ่รู้ การควบคุมตนเอง ความเอื้ออาทร ความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล ความซื่อสัตย์ ความขยัน และตั้งเป้าหมายเพื่ออนาคตกจะสามารถสร้างความพึงพอใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความรู้สึกที่ดี สร้างชื่อเสียงให้องค์การ ส่วนด้านองค์ประกอบความภักดี ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกันในระดับมาก และเพิ่มเติม ด้านการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้รับบริการ เน้นให้ความสำคัญที่ผู้บริหารและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การของผู้รับบริการ หรือชุมชน ก่อให้เกิดความพึงพอใจ และที่สุดชื่อเสียงจะตกอยู่กับสถานศึกษา เป็นการสร้างความภักดีให้กับองค์การ
ความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า มีความเหมาะสม ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นคุณธรรมที่มาจากมาตรฐานทั่วไปที่พึงปฏิบัติ เป็นคุณธรรมที่พึงประสงค์ เป็นคุณธรรมที่สังคมไทยควรมีและดำรงค์ไว้เพื่อให้เป็นแกนหลักในการยึดเหนี่ยวร่วมกัน และยังแนะนำเพิ่มเติมว่า คุณธรรมของผู้บริหารในเชิงพุทธศาสนา เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ เนื่องจาก ประชาชนชาวไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ การนำเอาคุณธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ เป็นแนวทางที่สามารถทำได้ง่าย และยังเสนอแนะต่อถึงคุณธรรมตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติด้วยกันทุกคน ทุกองค์การ
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่าง
คุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษากับความภักดีของผู้รับบริการต่อองค์การ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่ามีความเหมาะสมมาก เนื่องจากปัจจุบัน การแข่งขันในสถาบันการศึกษาไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความตั้งใจ การมีวินัยที่จะสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสถานศึกษา ยังแนะนำว่า การสร้างวิสัยทัศน์ ค่านิยม การนำเสนอคุณค่าขององค์การ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักขององค์การ แผนเชิงกลยุทธเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการที่ทำให้ทุกคนในองค์กร เข้าใจตรงกัน แต่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทั้งสองเรื่องเป็นงานสำคัญ ภาระกิจของผู้นำในเรื่องการทำตนเป็นแบบอย่างที่เด่นชัดยิ่ง คือผู้นำต้องมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง มิฉะนั้นคนในองค์การก็จะเข้าใจไม่ตรงกัน ไม่มีความสอดคล้องกันในเรื่องยุทธศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่เป็นไปตามแผนการ และสิ่งที่เป็นหลักที่ผู้นำจะต้องนำเป็นแบบอย่างในสร้างวิสัยทัศน์ คือค่านิยม ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจ การสร้างค่านิยมใหม่สำหรับข้าราชการไทย โดยมีวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ เน้นความสามารถและผลงาน เน้นความสุจริต ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ มีความกล้าทำในในสิ่งที่ถูกต้อง มีวินัยในตนเอง คือหนทางนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นความรู้สึกทางอารมณ์ หรือ สภาวะทางอารมณ์ของผู้รับบริการ ชุมชน คนในองค์กรจะมอบให้ เป็นความสำเร็จที่เรียกว่าความภักดีต่อองค์การ

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย
จากกระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมของทุกประเทศในโลก ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และอยู่ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยน การศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทในการวางรากฐานให้เยาวชนเป็นผลเมืองที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดี และมั่นคงพร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงคู่ไปกับผู้ที่มีคุณธรรม ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของครูผู้สอน นักเรียน สังคม ชุมชน ดังนั้นการนำเอารูปแบบคุณธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อสร้างความภักดีของผู้รับบริการ จึงควรถูกกำหนดเป็นนโยบายเป็นวาระของชาติ เพื่อให้เป็นแผนแม่บท นำมากำหนดยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษาร่วมกับชุมชน โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาเอง สามารถนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมองค์การ ด้วยการกำหนดและสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความรู้สึก ความพึงพอใจที่ดี เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในองค์การ ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่เน้นเรื่องการปลูกจิตสำนึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ผลที่ตามมาทำให้เกิดความภักดีต่อองค์การ

ข้อเสนอแนะด้านการนำไปปฏิบัติ
1. ในการวิจัยครั้งนี้ ประชากรเป็นสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งการนำผลการวิจัยไปใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง เพราะหากกลุ่มตัวอย่างมีความแตก ต่างกับกลุ่มประชากรในครั้งนี้ จะทำให้การอ้างอิงขาดความแม่นยำ
2. จากผลการวิจัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ความมีวินัยของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นกรอบในการนำไปปฏิบัติจริง ควรกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องโดยมีองค์ประกอบหลักในด้านคุณธรรม อันได้แก่ ฉันทะความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ความขยันหมั่นเพียร ความชอบธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะความมีวินัย ทำให้ผู้รับริการเกิดความภักดีต่อองค์ คือสถานศึกษา ผู้รับบริการอันประกอบด้วย นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ซึ่งจะกลับมาสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. ผู้บริหาร ครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ควรศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมในองค์กร และร่วมกับชุมชน รวมทั้งมีการจัดสัมนา และอบรม ความรู้เรื่องการตลาดแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การในการสร้างความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์กรบนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรมต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. จากการวิจัยครั้งนี้ได้นำเอาคุณธรรมทั่วไปมาใช้ในการวิจัย ควรมีการนำเอาองค์ประกอบคุณธรรมตามแนวทางทศพิศราชธรรม หรือองค์ประกอบคุณธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นองค์ประกอบในการทำวิจัยต่อไป
2. การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการปรับแต่งรูปจากสมมติฐาน หลังจากตรวจสอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์ จึงควรมีการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อความภักดีของผู้รับบริการที่มีต่อองค์การในกลุ่มตัวอย่างที่มี ลักษณะคล้ายคลึงกันอีกครั้งเพื่อให้ได้รูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมั่นสูงยิ่งขึ้น
3. การวิจัยครั้งนี้ศึกษาเฉพาะสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ควรเปรียบเทียบกับสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น สถานศึกษาในสังกัดเทศบาล เป็นต้น ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

บรรณานุกรรม

กรุงเทพมหานคร. สำนักการศึกษา. หน่วยศึกษานิเทศก์. โรงเรียนกทม. SMART SCHOOL: โรงเรียนคุณภาพ มาตรฐานกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2549.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542. กรุงเทพฯ : เซเว่นพริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2542.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม. ค่านิยมสร้างสรรค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา, 2545.

Frederick F. Reichheld. Loyalty Rules!: How Today’s Leaders Build Lasting Relationships, Harvard Business School Press, Boston, Massachusetts, 2001.

Johnson, M.D. and Gustafsson, A. Improving Customer Satisfaction, Loyalty, and Profit: AnIntegrated Measurement and Management System, Jossey-Bass, San Francisco, CA, USA., 2000.

Kotler, P. and Fox, K.F.A Strategic Marketing for Educational Institutions, Prentice-Hall, Englewood Cliffs, NJ, USA., 1995.

Velasquez G. Manuel. Business Ethics: Concepts and Cases, Fifth Edition (Upper Saddle River, New Jersey 07458: Phoenix Color Corp, 2002.